วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555

นโยบายด้านการศึกษา ของ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศธ.





สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ - นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมพูดคุยประเด็นนโยบายด้านการศึกษา ในรายการ บ่ายนี้มีคำตอบทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้


- ความเชื่อมโยงด้านการศึกษา
ในความเป็นจริงการดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา หรือด้านสังคม จะมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันทั้งสิ้น ภารกิจหน้าที่ในแต่ละเรื่องไม่ใช่เรื่องของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เช่น การสร้างคนเข้าสู่ภาคธุรกิจ ภาคเศรษฐกิจฐานความรู้ งานแต่ละด้านมีความเชื่อมโยงกันและมีการแบ่งหน้าที่โดยมีการประสานงาน เช่น โรงพยาบาลขาดแพทย์ ขาดพยาบาล กระทรวงศึกษาธิการก็จะทำการผลิตบุคลากรด้านนี้เพิ่มเติม
- ผลการประเมินของ PISA หากจะถามว่าขณะนี้ผู้ปกครอง ประชาชน มีความพึงพอใจกับคุณภาพการศึกษาไทยหรือไม่ คำตอบคือยังไม่พอใจ ซึ่งเป็นเรื่องของความรู้สึก สำหรับทางด้านวิทยาศาสตร์ ผลจากโครงการประเมินผลนักศึกษานานาชาติ Program for International Student Assessment : PISA ได้ประเมินความรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ของกลุ่มประเทศ OECD จำนวน ๓๔ ประเทศ และประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก OECD อีก ๓๑ ประเทศ รวมเป็น ๖๕ ประเทศ พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ ๕๐ โดยในระดับอาเซียนสูงกว่าประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น ส่วนประเทศระดับแนวหน้า เช่น สิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น ติดอันดับ ๑ ใน ๕ เราอยู่ในอันดับที่ ๕๐ ซึ่งเด็กไทยใช้เวลาในการศึกษามากกว่าคนอื่น เรียนเยอะแต่เรียนรู้น้อย เราจึงต้องกลับมาดูกระบวนการเรียนการสอนและหลักสูตร



- นโยบายปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ จากผลประเมินทางวิทยาศาสตร์ของ PISA ทำให้ ศธ.ควรทบทวนหลักสูตรการเรียนการสอนว่าจะให้เด็กเรียนอะไร อย่างไร นอกจากนี้ในหลายประเทศได้นำผลการประเมินนี้ไปปรับระบบการเรียนการสอน ในอดีตไทยก็ได้ปรับหลักสูตรมาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อปรับเสร็จแล้วคุณภาพเด็กไทยยังไม่สูงขึ้น สู้คนอื่นไม่ได้ นอกจากนี้เด็กสมัยใหม่จะต้องคิดเป็น วิเคราะห์เป็น มีความใส่ใจที่จะเรียนรู้ และกลั่นกรองข้อมูลต่างๆ ทั้งจากหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ เว็บไซต์ ว่าข้อมูลใดเป็นความจริง เพราะสังคมในยุคปัจจุบันมีความแตกแยก ความขัดแย้ง ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับฟังได้อ่านทุกวัน จะต้องมีความใคร่ครวญมากขึ้น การปรับหลักสูตรจะต้องจัดตั้งกรรมการขึ้นมาดูแล รับฟังความคิดเห็น ซึ่งได้มอบนโยบายให้แก่ผู้บริหาร ศธ.ไว้แล้วในการมอบนโยบายวันแรก โดยบอกว่า ส่วนใดที่เกี่ยวข้องให้นำเรื่องมาหารือกับ รมว.ศธ.ได้ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป


- ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีความรู้ความสามารถไม่เท่ากัน เด็กที่อยู่ในห้องเดียวกัน เมื่อมีความแตกต่าง ครูก็จะต้องมอบหมายงานที่แตกต่างกัน และต้องยอมรับว่า ครูเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตนักเรียน นักศึกษาที่มีคุณภาพ ประเทศที่จัดการศึกษาได้ดี ก็จะดึงคนเก่งมาเป็นครู โดยเฉพาะครูในระดับประถมฯ นอกจากนี้ค่าตอบแทนก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องจัดให้เพื่อดึงความสนใจให้คนมาเป็นครูมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งก็ต้องสร้างขวัญกำลังใจให้กับครู การทำงานของครูต้องมีระบบที่ทำให้รู้สึกว่ามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ได้รับการยกย่อง ยอมรับ ชีวิตมีความมั่นคง อย่างกรณีที่ครูอยู่ไกลจากครอบครัว หากสามารถย้ายให้มาอยู่ใกล้ครอบครัวได้ ก็จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายและสร้างความอบอุ่นให้ครอบครัว

- ขาดแคลนผู้เรียนสายคณิตศาสตร์/วิทยาศาสตร์ ในโลกยุคปัจจุบันจะเห็นได้ว่าความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม ก่อให้เกิดผลผลิตและรายได้แก่ประเทศจำนวนมาก เช่น iPhone เครื่องเดียว ทำให้ผลผลิตมวลรวมของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นถึง ๐.๕% ถือว่ามีจำนวนมากเพราะระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาใหญ่มาก นั่นคือสิ่งที่มาจากนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ที่เน้นการผลิตคนที่เก่งด้านคณิตศาสตร์/ วิทยาศาสตร์ รวมทั้ง สิงคโปร์ เช่น สิงคโปร์ที่มีระบบการสอนคณิตศาสตร์ที่ดีมาก เมื่อไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ก็มีความเก่งกว่าฝรั่ง เพราะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ดีมาก ครูเก่ง มีวิธีการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกาเองยังต้องนำไปเป็นตัวอย่าง
ดังนั้น ประเทศไทยควรจะต้องสร้างครูคณิตศาสตร์/วิทยาศาสตร์เก่งๆ แม้ในอดีตการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์/วิทยาศาสตร์ สอนให้เข้าใจได้ยาก ต้องได้ครูเก่งๆ มาสอน จึงต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ครูสามารถสอนที่ใดๆ ได้ตลอดเวลา โดยนำระบบ IT เข้ามาช่วยสอน และพัฒนาครู โดย ศธ.จะดำเนินการปรับปรุงพัฒนาการเรียนคณิตศาสตร์/วิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะมีรูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลายในการที่จะดึงความสนใจของนักเรียน ไม่จำเป็นต้องเขียนบนกระดานอย่างเดียว พร้อมทั้งดูตัวอย่างจากครูเก่ง ข้อสำคัญอีกอย่างคือ หากเรียนด้านใดแล้วอนาคตดี ก็จะให้ความสนใจ ซึ่งต้องยอมรับว่าในอดีต หลายคนคิดว่าการเรียนคณิตศาสตร์/วิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องน่าเบื่อ จบแล้วไม่รู้จะทำอะไร มีรายได้น้อยเมื่อเทียบกับสายสังคมศาสตร์ เช่น กฎหมายรับราชการ เป็นผู้พิพากษา อัยการ ในแง่ของแรงจูงใจดึงคนเข้าสู่ระบบ ก็จะต้องจูงใจให้เข้ามา แสดงให้เห็นว่ามีชีวิตที่ดี มีค่าตอบแทนที่ดี



- การวิจัย
เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากในระบบเศรษฐกิจของฐานความรู้ แต่ว่าเราเองมีผลงานการวิจัยน้อย และคุณภาพที่ดีก็น้อย การจดสิทธิบัตรก็น้อยกว่าบริษัทหลายๆ บริษัทในสหรัฐอเมริกา สาเหตุที่ทำให้งบประมาณวิจัยลดลง เกิดจากผู้คนทั่วไปไม่เห็นว่างานวิจัยเกิดประโยชน์ ไม่ควรไว้บนหิ้งเฉยๆ แต่หากวิจัยเสร็จแล้ว ก่อเกิดประโยชน์ เช่น ทำให้ข้าวไทยมีผลผลิตดีขึ้น มีความต้านทานต่อโรค ก็เท่ากับมีประโยชน์ต่อภาคการเกษตร สำหรับภาคธุรกิจเรามีอุตสาหกรรมจำนวนมาก แต่ละโรงงานต้องการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ของตนเอง ฉะนั้นหากมีการทำงานเชื่อมโยงกัน ไม่เฉพาะงบประมาณจากภาครัฐเท่านั้น งบประมาณจากภาคธุรกิจจะหลั่งไหลมา ภาคเอกชนในหลายประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนงานวิจัยโดยการใส่เงินเข้าไป ไม่ได้ขอจากภาครัฐอย่างเดียว หากนักวิจัยสามารถตอบโจทย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้พลังงาน ยืดระยะเวลาของอาหาร นอกจากนี้ต้องทำให้นักวิจัยเข้าใจว่า การวิจัยต้องเข้าใจสภาพของความจริง ใช้ประโยชน์ได้ เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ และต่อยอดสิ่งที่เคยทำไปแล้ว คนจะเห็นคุณค่างานวิจัย และงบประมาณการวิจัยก็จะตามมา
- ครูสอนภาษาอังกฤษ นอกเหนือจากการให้ครูอาสาสมัครมาสอนภาษาอังกฤษในไทย ศธ.จะทำข้อตกลงกับบริติช เคานซิล เกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นและซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งแน่นอนว่าวิธีการใช้ภาษาเป็นแบบอย่างจากเสียงครูที่อยู่ในแท็บเล็ต เด็กสามารถจะเรียนได้ที่บ้าน ได้ฝึกการออกเสียงอย่างถูกต้อง
- แท็บเล็ต ในเรื่องของซอฟต์แวร์หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ ก็ต้องพัฒนามากขึ้น เพราะปัจจุบัน ศธ.ได้แจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียน ป.๑ ในปีการศึกษา ๒๕๕๕ และจะแจกนักเรียน ม.๑ ในปีการศึกษา ๒๕๕๖ ขณะนี้ ศธ.กำลังพัฒนาเนื้อหาสาระ และแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ที่เรียนรู้ได้ง่าย พยายามที่จะพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศ ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เพื่อให้เด็กสามารถดาวน์โหลดหรือใช้งานได้ โดยจะมีการจ่ายค่าตอบแทนตามจำนวนผู้เข้าใช้ รวมทั้งระบบ Platform ที่สามารถควบคุมการใช้แท็บเล็ตของนักเรียนทั้งห้อง และสามารถเช็คการใช้แท็บเล็ตของนักเรียนได้ด้วย
- ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่พิเศษที่ ศธ.จะต้องดูแลให้ดีที่สุด นโยบายรัฐบาลต้องการให้การศึกษาเป็นตัวนำในการนำสันติสุขสู่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
- โรงเรียนขนาดเล็ก ในโรงเรียนเล็กๆ ต้องดูว่าคุณภาพเป็นอย่างไร หากสามารถขนส่งเด็กจากโรงเรียนเล็กๆ เหล่านั้นไปโรงเรียนที่มีคุณภาพ และประชาชนในพื้นที่ไม่ติดใจว่าจะต้องมีโรงเรียนเล็กที่ดีมีคุณภาพ เพียงขอให้ลูกหลานได้ไปเรียนอย่างสะดวกในโรงเรียนที่มีคุณภาพ ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่ ศธ.จะจัดรถรับส่งเด็ก ในแง่ของประสิทธิภาพ รัฐบาลใช้เงินน้อยลงในการจัดการศึกษา เด็กก็ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพในโรงเรียนขนาดใหญ่กว่า ครูช่วยสอนได้ดีขึ้น แต่ถ้าในบางพื้นที่อยากจะให้คงโรงเรียนขนาดเล็กไว้ก็ไม่เป็นไร จะทำเฉพาะโรงเรียนที่สมัครใจ
- การสอบ National Test : NT ผลการสอบ NT พบว่ามีหลายวิชาที่ผลคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ ส่วนหนึ่งจะต้องแก้ด้วยการปรับปรุงหลักสูตร แต่อีกส่วนคือ เด็กไม่ตั้งใจ ไม่เห็นความสำคัญ และไม่เห็นประโยชน์จากการสอบ แต่หากทำให้การทดสอบมีผลกระทบและเกิดประโยชน์กับเด็ก เด็กก็จะตั้งใจมากขึ้น และอีกส่วนคือ ตั้งใจทำแล้ว แต่คะแนนยังไม่สูงขึ้น
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า การศึกษาจะต้องใช้เวลาเพื่อจะรอให้ถึงจุดที่มั่นใจที่สุด เช่น การปรับปรุงหลักสูตรอย่างน้อยใช้เวลาเป็นปี แต่หากไม่เริ่มทำ ไม่มีความเคลื่อนไหว ได้ผลช้าดีกว่าไม่ทำ ในอดีตที่ผ่านมามีคนบอกว่าไม่อยากทำเรื่องการศึกษา เพราะทำแล้วเห็นผลช้า รัฐบาลแต่ละสมัยๆ ละ ๔ ปี แต่การศึกษาเวลาทำแล้วบางครั้ง ๔ ปียังไม่เห็นผลชัดเจน ไม่เหมือนการสร้างอาคารเพียง ๒ ปีก็เห็นผล
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2012/nov/292.html








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น