วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555
นโยบายด้านการศึกษา ของ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศธ.
สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ - นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมพูดคุยประเด็นนโยบายด้านการศึกษา ในรายการ “บ่ายนี้มีคำตอบ” ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้ - ความเชื่อมโยงด้านการศึกษา ในความเป็นจริงการดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา หรือด้านสังคม จะมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันทั้งสิ้น ภารกิจหน้าที่ในแต่ละเรื่องไม่ใช่เรื่องของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เช่น การสร้างคนเข้าสู่ภาคธุรกิจ ภาคเศรษฐกิจฐานความรู้ งานแต่ละด้านมีความเชื่อมโยงกันและมีการแบ่งหน้าที่โดยมีการประสานงาน เช่น โรงพยาบาลขาดแพทย์ ขาดพยาบาล กระทรวงศึกษาธิการก็จะทำการผลิตบุคลากรด้านนี้เพิ่มเติม - ผลการประเมินของ PISA หากจะถามว่าขณะนี้ผู้ปกครอง ประชาชน มีความพึงพอใจกับคุณภาพการศึกษาไทยหรือไม่ คำตอบคือยังไม่พอใจ ซึ่งเป็นเรื่องของความรู้สึก สำหรับทางด้านวิทยาศาสตร์ ผลจากโครงการประเมินผลนักศึกษานานาชาติ Program for International Student Assessment : PISA ได้ประเมินความรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ของกลุ่มประเทศ OECD จำนวน ๓๔ ประเทศ และประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก OECD อีก ๓๑ ประเทศ รวมเป็น ๖๕ ประเทศ พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ ๕๐ โดยในระดับอาเซียนสูงกว่าประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น ส่วนประเทศระดับแนวหน้า เช่น สิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น ติดอันดับ ๑ ใน ๕ เราอยู่ในอันดับที่ ๕๐ ซึ่งเด็กไทยใช้เวลาในการศึกษามากกว่าคนอื่น เรียนเยอะแต่เรียนรู้น้อย เราจึงต้องกลับมาดูกระบวนการเรียนการสอนและหลักสูตร - นโยบายปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ จากผลประเมินทางวิทยาศาสตร์ของ PISA ทำให้ ศธ.ควรทบทวนหลักสูตรการเรียนการสอนว่าจะให้เด็กเรียนอะไร อย่างไร นอกจากนี้ในหลายประเทศได้นำผลการประเมินนี้ไปปรับระบบการเรียนการสอน ในอดีตไทยก็ได้ปรับหลักสูตรมาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อปรับเสร็จแล้วคุณภาพเด็กไทยยังไม่สูงขึ้น สู้คนอื่นไม่ได้ นอกจากนี้เด็กสมัยใหม่จะต้องคิดเป็น วิเคราะห์เป็น มีความใส่ใจที่จะเรียนรู้ และกลั่นกรองข้อมูลต่างๆ ทั้งจากหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ เว็บไซต์ ว่าข้อมูลใดเป็นความจริง เพราะสังคมในยุคปัจจุบันมีความแตกแยก ความขัดแย้ง ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับฟังได้อ่านทุกวัน จะต้องมีความใคร่ครวญมากขึ้น การปรับหลักสูตรจะต้องจัดตั้งกรรมการขึ้นมาดูแล รับฟังความคิดเห็น ซึ่งได้มอบนโยบายให้แก่ผู้บริหาร ศธ.ไว้แล้วในการมอบนโยบายวันแรก โดยบอกว่า ส่วนใดที่เกี่ยวข้องให้นำเรื่องมาหารือกับ รมว.ศธ.ได้ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป - ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีความรู้ความสามารถไม่เท่ากัน เด็กที่อยู่ในห้องเดียวกัน เมื่อมีความแตกต่าง ครูก็จะต้องมอบหมายงานที่แตกต่างกัน และต้องยอมรับว่า ครูเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตนักเรียน นักศึกษาที่มีคุณภาพ ประเทศที่จัดการศึกษาได้ดี ก็จะดึงคนเก่งมาเป็นครู โดยเฉพาะครูในระดับประถมฯ นอกจากนี้ค่าตอบแทนก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องจัดให้เพื่อดึงความสนใจให้คนมาเป็นครูมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งก็ต้องสร้างขวัญกำลังใจให้กับครู การทำงานของครูต้องมีระบบที่ทำให้รู้สึกว่ามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ได้รับการยกย่อง ยอมรับ ชีวิตมีความมั่นคง อย่างกรณีที่ครูอยู่ไกลจากครอบครัว หากสามารถย้ายให้มาอยู่ใกล้ครอบครัวได้ ก็จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายและสร้างความอบอุ่นให้ครอบครัว |
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)